หนวดปลาหมึก
ถ้าพูดถึงของอร่อยในตัวหมึก สิ่งที่เราหลายคนชื่นชอบโปรดปรานนั่นก็คือ…หนวดหมึกนั่นเอง เพราะความกรอบของหนวดหมึกและการผสมผสานกับน้ำจิ้มซีฟู้ดที่รสชาติอูมามิ ขอการันตีได้เลยว่า…เด็ด! แต่เราจะมัวแต่สนใจเฉพาะรสชาติของหนวดหมึกอย่างเดียวไม่ได้นะคะ เวลาเราเคี้ยวหนวดหมึกแล้ว…เคยตั้งคำถามกับตัวเองมั้ยคะ ว่าทำไมหมึกถึงมีหนวด หมึกมีครีบไม่ได้หรอ… คำถามนี้ฟังดูน่าตลกใช่มั้ยคะ แต่เอาเป็นว่าเรามาไขคำตอบนี้กัน มาค่ะ!
ทำไมหมึกถึงต้องมีหนวด…
หรือว่าในทะเลไม่มีมีดโกน!
มุขนี้เคยได้ยินกันมั้ยคะ แล้วพวกคุณ ๆขำกันหรือเปล่า… เรามาเข้าช่วงมีสาระกันดีกว่าค่ะ หนวดหมึกเนี่ย…ถ้าเราจะเปรียบเทียบกับอวัยวะของมนุษย์ สิ่งที่สามารถเปรียบเปรยได้ดีที่สุดก็คือแขนและขา เพราะหน้าที่ของหนวดเนี่ยคือช่วยในการว่ายน้ำของหมึกค่ะ อีกทั้งยังสามารถใช้จับเหยื่อเอาเข้าปากอีกด้วย ในหนวดปลาหมึกจะมีความเหนียวเป็นพิเศษซึ่งสามารถเกาะจับสิ่งต่าง ๆได้ดีมาก เรียกได้ว่า…ถ้าใครโดนหมึกดูด…ยากมากนะคะที่จะหาทางแกะออก โดยหมึกมีหนวดรอบปาก 4-5 คู่ บนหนวดก็จะมีปุ่มเรียงเป็นแถวให้เราได้เห็นกัน ความน่าสนใจของหนวดหมึกมีไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ เราจะมายกตัวอย่างานวิจัยกัน!

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเฮบู ณ กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล โดยทางมหาวิทยาลัยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของหมึกค่ะ โดยทางนักวิทยาศาสตร์ได้มีการตั้งคำถามว่า ”ทำไมหนวดหมึกถึงไม่พันกัน” โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องถ่ายภาพความเร็วสูง ถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของหมึก shot by shot! โดยมีข้อสรุปของการทดลองนี้ว่า หมึกใช้แค่หนวดเพียงเส้นเดียวในการเคลื่อนที่ โดยหนวดเส้นนั้นจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ว่าไปทิศทางไหน ซึ่งทำให้การเคลื่อนที่ของหมึกมีความว่องไวและไม่มีความยุ่งยาก ซับซ้อนอะไรเลย อีกทั้งมันยังทำให้หนวดหมึกไม่พันกันเป็นสายไหม
แต่ความสนใจไม่ใช่มีแค่หนวดหมึกเท่านั้นค่ะ เรามาเจาะลึกเกี่ยวกับปุ่มที่เรียงเป็นแถว ๆบนหนวดหมึกว่ามีการทำงานอย่างไร เรามาเรียนรู้ไปพร้อมกันเลยค่ะ
ปุ่มบนหนวดหมึกในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า “Suckers” โดยระบบการทำงานนี่…ไม่ต่างจากเครื่องยนต์เลยค่ะ โดยปกติในระบบsuckersของหมึกจะมีน้ำอยู่ภายใน ถ้าหมึกต้องการที่จะหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เช่น เหยื่อเพื่อเป็นอาหาร ระบบsuckersจะมีการถ่ายน้ำออกก่อนทุกครั้ง เพื่อประสิทธิภาพในการหยิบจับค่ะ ระบบนี้ทำงานแบบอัตโนมัติโดยที่หมึกไม่ต้องสั่ง อีกทั้งยังมีเนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆบริเวณsuckers เพื่อให้สามารถปรับสภาพตามพื้นผิวได้
แล้ว…หนวดหมึกสามารถดูดตัวของมันเองได้หรือเปล่า?
คำตอบคือไม่! เพราะหมึกจะมีการรับรู้ถึงสารเคมีบางอย่างในตัวมันเองค่ะ เพื่อตรวจสอบดูว่าอันไหนควรดูด อันไหนไม่ควรดูด โดยระบบการสั่งการหรือการรับรู้ไม่ได้มาจากตัวปลาหมึกนะคะ แต่มันมาจากระบบsuckersโดยตรงเท่านั้น! น่าสนใจมากใช่มั้ยล่ะคะ… ความน่าสนใจไม่ได้จบลงแค่นี้ค่ะ นักวิทยาศาสตร์ยังมีการทดลองเพิ่มเติม โดยการจับหมึกสองตัวไปอยู่ตู้การทดลองเดียวกัน ผลปรากฏว่า…หมึกทั้งสองตัวไม่ได้มีการเข้าใกล้กันแต่อย่างไร แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่จบการทดลองเพียงแค่นั้นค่ะ พวกเขายังคงทดลองโดยการตัดหนวดหมึกแล้วหย่อนลงไปหรือแม้กระทั่งปั่นหนวดหมึกให้ละเอียดแล้วใส่ลงไป ผลการทดลองก็เหมือนเดิมค่ะ คือหมึกไม่ได้ดูดหรือมีปฏิกิริยาแต่อย่างใด น่าประหลาดใจมากเลยทีเดียวค่ะ!